วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กิจกรรม (Activity)


กิจกรรม (Activity)
1. สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเรื่องนิยามความหมาย: ทฤษฎี ทฤษฎีหลักสูตร ทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตร
          ตอบ ทฤษฎีหลักสูตร  ออร์นสไตน์และฮันกิน (Ornstein A.C. & Hunkins. F.P. 2004) อธิบายว่า ทฤษฎีหลักสูตร หมายถึง ข้อความที่อธิบายความหมายของหลักสูตร โดยแสดงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆของหลักสูตรและเป็นแนวทางในการศึกษา การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินผลหลักสูตร
            แมคไซส์ (Maccias. 1963, อ้างถึงใน Ornstein & Hunkins. 2004) ได้จัดกลุ่มทฤษฎีหลักสูตรเป็น 4 ทฤษฎี คือ
            1. ทฤษฎีหลักสูตรแบบเป็นทางการ (Formal Theory) เป็นทฤษฎีหลักสูตรที่กล่าวถึงหลักการและกฎเกณฑ์ และโครงสร้างหลักสูตรโดยทั่วไป
            2. ทฤษฎีสิ่งเกิดขึ้นกับหลักสูตร (Event Theory) เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นและการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในหลักสูตรอีกด้วย
            3. ทฤษฎีการประเมินค่าหลักสูตร (Valuation Theory) เป็นทฤษฎีที่อธิบายความเหมาะสมของหลักสูตรที่จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์
            4. ทฤษฎีการกระทำของมนุษย์ (Praxiological Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีเกี่ยวข้องกับการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์และพฤติกรรมที่ตามมา ตัวอย่างแนวคิดของทฤษฎีนี้อ้างอิงเกี่ยวกับวิถีทางที่เหมาะสม เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จอะไรเป็นคุณค่าที่ต้องพิจารณาในการปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ
ทฎษฎีการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์     
          1. มีจุดประสงค์ทางการศึกษาอะไรบ้าง ที่โรงเรียนควรแสวงหา
          2. มีประสบการณ์ทางการศึกษาอะไรบ้าง ที่สามารถจัดขึ้นเพื่อช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ที่กำหนดไว้นั้น
          3. จะจัดระบบประสบการณ์ดังกล่าวนี้อย่างไร จึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
          4. จะประเมินประสิทธิภาพของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร จึงจะตัดสินใจได้ว่าบรรลุถึงจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
คำถามทั้ง 4 ประการนี้ ตรงกับองค์ประกอบที่สำคัญในการวางแผนหรือพัฒนาหลักสูตร    4 ด้าน ตามลำดับดังนี้ 1. การตั้งเป้าประสงค์ 2. การเลือกเนื้อหา 3. การสอน และ 4. การประเมินผล
           ทาบา ได้กล่าวถึงลำดับขั้นในการพัฒนาหลักสูตรไว้ 8 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1วิเคราะห์สภาพ ปัญหา ความต้องการ และความจำเป็นต่างๆ ของสังคม รวมทั้งศึกษาพัฒนาการของผู้เรียน กระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนธรรมชาติของความรู้ เพื่อนำมาเป้นแนวทางในการกำหนดจุดประสงค์
ขั้นที่ 2 กำหนดจุดประสงค์ของการศึกษา โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากขั้นที่ 1 เป็นหลักในการพิจารณา
ขั้นที่ 3 คัดเลือกเนื้อหาวิชาที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตรงกับความต้องการและความจำเป็นของสังคม โดยคัดเลือกมาให้เรียนโดยเฉพาะที่ตรงกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
ขั้นที่ 4 จัดระเบียบ ลำดับ และขั้นตอนของเนื้อหาวิชาที่คัดเลือกมา
ขั้นที่ 5 คัดเลือกประสบการณ์การเรียน โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และวิธีสอนแบบต่างๆ เป็นแนวทาง
ขั้นที่ 6 จัดระเบียบ ลำดับ และขั้นตอนของประสบการณ์การเรียน
ขั้นที่ 7 ประเมินผล เป็นขั้นที่จะทำให้ทราบว่าการพัฒนาหลักสูตรประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด โดยปกติจะพิจารณาจากผลของการใช้หลักสูตร นั่นคือ พิจารณาว่าผู้เรียนได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ เนื้อหาวิชาและกระบวนการเรียนการสอนมีความเหมาะสมเพียงใด
ขั้นที่ 8 ตรวจสอบความคงที่ และความเหมาะสมในแต่ละขั้นตอน โดยตรวจสอบตามแนวของคำถามที่มีลักษณะดังนี้
          - เนื้อหาวิชาที่จัดขึ้นเกี่ยวข้องกับจุดประสงค์หรือไม่
          - ประสบการณ์การเรียนได้ช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ตามจุดประสงค์หรือไม่
          - ประสบการณ์การเรียนที่จัดขึ้นมีความเหมาะสมเพียงใด
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของเคอร์
เคอร์ (John F. Kerr) เสนอรูปแบบการพัฒนาหลักสูตร เรียกว่าเป็น Operational Model มีจุดมุ่งหมายของหลักสูตรได้มาจากแหล่งข้อมูล 3 แหล่ง ได้แก่
          1. ระดับพัฒนาการ ความต้องการ และความสนใจของนักเรียน
          2. สภาพ ปัญหา และความต้องการของสังคมที่นักเรียนต้องเผชิญ
          3. ธรรมชาติของเนื้อหาวิชาและชนิดของการเรียนรู้
นำจุดมุ่งหมายมาคัดเลือกและจัดอันดับ โดยนำเอารูปแบบการจำแนกประเภทจุดประสงค์ทางการศึกษาของบลูม (Benjamin S. Bloom) และคณะ ที่แบ่งจุดประสงค์ทางการศึกษาออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านพุทธวิสัย ด้านจิตพิสัย และด้านทักษพิสัย มาช่วยในการพิจารณาจำแนกจุดประสงค์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ขั้นต่อไป ได้แก่ การจัดประสบการณ์การเรียน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับจุดประสงค์และเนื้อหาวิชาที่จัดไว้แล้ว และในการจัดประสบการณ์การเรียนจะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น ความพร้อมของผู้เรียน ความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน วิธีสอน เป็นต้น
ขั้นสุดท้าย ได้แก่ การประเมินผล ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตร โดยใช้วิธีการหลายวิธี เช่น การทดสอบ การสัมภาษณ์ เป็นต้น
เคอร์ได้ใช้ลูกศรโยงระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในรูปแบบของการพัฒนาหลักสูตรเป็นการเน้นว่า องค์ประกอบเหล่านั้นจะมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของเลวี
เลวี (Arich Lewy) ได้กล่าวถึงขั้นตอนและงานสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรดังนี้ รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของเลวีแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมโครงร่างของหลักสูตร ขั้นเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ประกอบการเรียน และขั้นดำเนินการ
          1. ขั้นเตรียมโครงร่างของหลักสูตร แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนย่อยๆ ได้แก่ การเลือกจุดมุ่งหมาย
เลือกเนื้อหาวิชา เลือกกิจกรรมการเรียนการสอน
          2. ขั้นเตรียมววัสดุ อุปกรณ์ประกอบการสอน แบ่งออกเป็น 4 ขั้นย่อยๆ ได้แก่ การสร้างวัสดุ อุปกรณ์ประกอบการสอน จัดวัสดุอุปกรณ์ตามรายวิชา ทดลองใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ และปรับปรุง
          3. ขั้นดำเนินการ แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอนย่อยๆ ได้แก่ การเตรียมจัดระบบงาน ฝึกอบรมครู ปรับปรุงแก้ไขระบบการสอน ประสานงานกับฝ่ายวิชาการ ควบคุมคุณภาพ ปรับปรุงและนำมาใช้ใหม่
รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของ สสวท.
           สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ทำการพัฒนาหลักสูตรวิทายาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาและประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2519 ในการพัฒนาหลักสูตรนอกจากจะปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ยังพัฒนาด้านแผนการเรียนการสอนและการวัดผลอีกด้วย
หลักของการพัฒนาหลักสูตร
          จากรูปแบบและทฤษฎีการพัฒนาหลักสูตร สรุปเป็นหลักของการพัฒนาหลักสูตรดังนี้
          1. ใช้พื้นฐานจากประวัติศาสตร์ ปรัชญา สังคม จิตวิทยา และวิชาความรู้ต่างๆ
          2. พัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม โดยวิเคราะห์ปัญหาความต้องการและความจำเป้นต่างๆ ของสังคม
          3. พัฒนาให้สอดคล้องกับระดับพัฒนาการ ความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
          4. พัฒนาให้สอดคล้องกับหลักของการเรียนรู้
          5. ในการเลือกและจัดประสบการณ์การเรียน จะต้องพิจารณาความเหมาะสมในด้านความยากง่าย ลำดับก่อนหลัง และบูรณาการของประสบการณ์ต่างๆ
          6. พัฒนาในทุกจุดอย่างประสานสัมพันธ์กัน ตามลำดับจากจุดประสงค์ สาระความรู้และประสบการณ์ กระบวนการเรียนการสอน และการประเมินผล
          7. พิจารณาถึงความเป็นไปได้สูงในทางปฏิบัติ
          8. พัฒนาอย่างเป็นระบบ
          9. พัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง
          10.  มีการวิจัยติดตามผลอยู่ตลอดเวลา
          11.  ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ
          12.  อาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังของผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย (บุญชม ศรีสะอาด,  2546:63-73)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น